ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาที่ใช้รักษาหรือลดความดันโลหิตสูงมีหลายชนิดและสามารถแบ่งออกได้หลายๆ กลุ่มโดยยาในแต่ละกลุ่มจะมีกลไกในการทำให้ความดันโลหิตลดลงที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างยาลดความดันโลหิตในกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มยาขับปัสสาวะจะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้โดยการขับน้ำและเกลือออกจากร่างกายและลดปริมาณเลือดในหลอดเลือด ยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ Hydrochlorothiazide, Furosemide กลุ่มยาเบต้าบล็อกเกอร์จะมีกลไกในการลดความดันโลหิตโดยการลดการทำงานของหัวใจทำให้หัวใจเต้นช้าลงและลดแรงดันเลือดในหลอดเลือด ตัวอย่างยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ได้แก่ Atenolol, Metoprolol ยาในกลุ่ม
แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์จะทำให้แคลเซียมเข้าสู่กล้ามเนื้อของหัวใจและหลอดเลือดน้อยลงทำให้หลอดเลือดขยายตัวจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Amlodipine, Nifedipine ยาในกลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์จะเข้าไปยังยั้งการหดตัวของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดขยายตัวส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้คือ Enalapril, Lisinopril ยาในกลุ่มเอนจิโอเทนซินทูรีเซพเตอร์บล็อกเกอร์ ยาในกลุ่มนี้จะทำงานโดยกลไกที่เข้าไปขัดขวางการทำงานของสารเอนจิโอเทนซินทู ซึ่งโดยปกติสารนี้จะทำให้หลอดเลือดหดตัวจึงส่งผลให้มีการขยายตัวของหลอดเลือดและความดันโลหิตลดลง ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Losartan, Valsartan ยาในกลุ่มแอลฟาบล็อกเกอร์จะลดการทำงานของสารที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวจึงทำให้ความดันโลหิตลดลง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Doxazosin, Prazosin และยังมียาลดความดันโลหิตอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ทั้งนี้ยาแต่ละกลุ่มก็มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรจะใช้ยาลดความดันโลหิตในกลุ่มใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปัจจัยร่วมอื่นๆ ของผู้ป่วย
ปวดหัวความดันสูงกินยาอะไร เมื่อคุณมีอาการปวดหัวเกิดพร้อมกับความดันโลหิตสูงอาจเกิดจากภาวะความดันโลหิตที่สูงเกินไปหรืออาจจะเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ควรมีความระมัดระวังในการใช้ยา มีคำแนะนำเบื้องตันเมื่อมีอาการปวดหัวและความดันสูงดังนี้ ถ้าความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัวของคุณอยู่แล้วและมีอาการปวดหัวร่วมด้วยจึงควรตรวจสอบว่าได้กินยาลดความดันโลหิตตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ ถ้าความดันไม่สูงมากนักและมีอาการปวดหัวร่วมด้วยและคิดว่าเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็อาจกินยาแก้ปวด(พาราเซตามอล) ได้แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวดประเภท NSAIDs เพราะยากลุ่มนี้จะทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น หากมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและค่าความดันโลหิตสูงมาก( > 180 mmHg) ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ยาลดความดันกินเวลาไหน โดยทั่วไปเมื่อแพทย์สั่งให้กินยาลดความดันโลหิตสูงมักจะมีการแจ้งไว้แล้วว่าควรกินตอนไหน ซึ่งยาลดความดันแต่ละกลุ่มก็มีเวลากินที่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและยาประเภทนั้นๆ โดยปกติยาลดความดันโลหิตหากเคยกินเวลาไหนก็ให้กิน
เวลาเดิม วิธีปฏิบัติอาจทำได้ดังนี้คือ กินยาในช่วงเช้าเพราะความดันโลหิตมักจะขึ้นสูงในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน การกินยาในช่วงนี้จะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตได้ตลอดทั้งวัน แต่ยาลดความดันโลหิตในบางกลุ่มเช่น กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ กลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ แพทย์อาจแนะนำให้กินในช่วงเย็นหรือก่อนนอน ยาลดความดันโลหิตที่ต้องกินหลายครั้งต่อวัน แพทย์อาจให้มีการแบ่งกินตามเวลาในแต่ล่ะช่วงของวันเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ตลอดวัน
กินยาความดันแล้วความดันไม่ลด การที่ความดันไม่ลดหลังจากกินยาลดความดันอาจเกิดจากหลายสาเหตุเช่น ใช้ยาไม่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องของขนาดยา ความสม่ำเสมอในการกินยา และการใช้ยาลดความดันร่วมกับยาชนิดอื่นที่อาจทำปฏิกิริยากับยาลดความดัน ความดันไม่ลดหลังจากกินยาอาจเกิดจากภาวะดื้อยาซึ่งอาจต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันหรืออาจต้องเพิ่มขนาดยาให้สูงขึ้น พฤิตกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้ยาลดความดันไม่มีผลที่เพียงพอเช่น ผู้ป่วยยังกินอาหารที่มีโซเดียมสูง ขาดการออกกำลังกาย เครียด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่และดูแลสุขภาพไม่ดี(ไม่เคร่งครัด) ทำให้ยาลดความดันที่กินอยู่ประจำไม่ได้ผล
กินยาลดความดันแล้วเวียนหัว อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ซึ่งมีสาหตุมาจากการที่ร่างกายปรับตัวให้คุ้นเคยกับยาลดความดัน(เริ่มกินยาใหม่ๆ) ที่อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เมื่อร่างกายมีความคุ้นเคยแล้วอาการเวียนหัวก็จะดีขึ้นและหายไป อาการเวียนหัวหลังจากกินยาลดความดันอาจเกิดจากการที่ความดันโลหิตลดลงมากเกินไป(เพิ่งกินยาใหม่ , ขนาดยาแรงเกินไป) การเปลี่ยนอริยาบถอย่างรวดเร็ว(จากนอน > นั่ง > ยืน) อาจทำให้เวียนหัวจนหน้ามืดได้ หรืออาการเวียนหัวจะเกิดจากผลข้างเคียงของยาลดความดันก็เป็นไปได้ สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดอาการเวียนหัวคือ นั่งหรือนอนพักในท่าที่สบายๆ จนอาการดีขึ้น หากใช้ยาลดความดันในกลุ่มขับปัสสาวะควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันการขาดน้ำ ถ้าอาการเวียนหัวยังเป็นอยู่นานให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาหตุซึ่งอาจต้องมีการเปลี่ยนกลุ่มยาหรือปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย
ยาความดันห้ามกินกับยาอะไร สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวต้องกินยาหลายๆ ชนิด ยาที่กินเพื่อรักษาโรคประจำตัวแต่ละอย่างก็อาจมีปฏิกิริยาในทางลบต่อกันซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงและลดประสิทธิภาพของยา ดังนั้นผู้ป่วยที่ีกินยาลดความดันโลหิตอยู่ควรระมัดระวังในการใช้ยาในแต่ละกลุ่มดังนี้ ยากลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen, Naproxen ยาในกลุ่มนี้อาจลดประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิตและอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายได้ หากใช้ยาลดความดันกลุ่ม ACE inhibitors ร่วมกับยาขับปัสสาวะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินไปหรือเกิดภาวะขาดน้ำได้ ถ้าใช้ยาลดความดันโลหิตร่วมกับยาต้านเศร้าเช่น MAO inhibitors อาจทำให้ความดันโลหิตไม่คงที่ ยารักษาเบาหวานเช่น Insulin, Sulfonylureas เมื่อใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิต(Beta-blockers) จะทำให้ร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายกลุ่มที่ไม่ควรกินพร้อมกับยาลดความดันโลหิต(หรือต้องใช้อย่างระมัดระวัง) ได้แก่ ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม Statins ยากล่อมประสาทและยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม Tricyclic และยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิด เป็นต้น
อาการแพ้ยาความดันโลหิตสูง อาการแพ้ยาลดความดันโลหิตสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อยไปจนถึงอาการแพ้ที่รุนแรง อาการแพ้ยาทั่วไปเช่น เกิดผื่นคันหรือผิวหนังอักเสบ บวมบริเวณใบหน้า คอ ริมฝีปาก ลิ้น ฯลฯ คันตามผิวหนัง หายใจลำบาก(ติดขัด หายใจไม่สะดวก) ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว หน้ามืด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ฯลฯ ส่วนอาการแพ้ที่รุนแรงได้แก่ บวมตามร่างกายจนทำให้หายใจลำบากมาก หัวใจเต้นเร็ว(ผิดปกติ) ความดันโลหิตลดลงมากจนทำให้เกิดอาการช็อค หมดสติ