คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหากไม่ควบคุมความดันให้ดี(ให้อยู่ในระดับปกติ) มักจะมีโรคอื่นๆ ตามมาหรือพูดง่ายๆ ว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนั่นโรคนี่อีกหลายโรคเลย โดยทั่วไปคนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมักจะมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญคือนิสัยติดการกินเค็มซึ่งแน่นอนว่าการกินเค็มมากกว่าปกติจะทำให้ไตทำงานหนัก การกินอาหารรสเค็มจะทำให้ร่างกายขับโปรตีนอัลบูมินออกมาทางปัสสาวะ ปริมาณสารอัลบูมินในปัสสาวะจะเป็นตัวชี้ของภาวะไตเสื่อมระยะแรก ไตต้องทำงานหนักขึ้นหนักเข้าก็จะทำให้เกิดการอักเสบหรือไตบวมได้ นั่นคือความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตถ้าหากภาวะความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดในไตตีบตันก็อาจทำให้ไตวายได้
ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นจุดเริ่มหรือเป็นความเสี่ยงต่อโรคหลาย ๆ โรคเพราะความดันโลหิตสูงจะเกิดขึ้นกับอวัยวะทั่วร่างกาย ถ้าหากความดันในเลือดสูงจนเส้นเลือดรับไม่ไหว ถ้าเป็นเส้นเลือดที่ตาความดันเลือดที่สูงจะทำให้เส้นเลือดที่ตาแตกได้อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นตาบอดได้ หากเป็นเส้นเลือดในสมองก็จะส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองอาจจะตีบหรือแตกได้ อาการที่แสดงออกได้แก่ ปากเบี้ยว หนังตาตก ร่างกายอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกตลอดจนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
ความเสี่ยงกับหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น เกิดอาการเหนื่อยง่ายหายใจลำบากและหากความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตันทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนสุดท้ายทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
อวัยวะสำคัญที่มีความเสี่ยงจากภาวะความดันโลหิตสูง ได้แก่ ตา ไต สมองและหัวใจ ดังนั้นวิธีลดความเสี่ยงไม่ให้อวัยวะสำคัญเหล่านี้เสียหายก็คือการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกตินั่นเอง จะว่าไปแล้วโรคที่เกิดกับอวัยวะสำคัญเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กันเช่น ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นการป้องกันที่ดีคือการป้องกันแบบรวมทั้ง ควบคุมความดัน น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดเพราะปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจึงจะลดความเสี่ยงการเกิดโรคกับอวัยวะสำคัญเหล่านี้ได้