โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โรคนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้คนตายก่อนวัยอันควรโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า คนส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงหากไม่ได้รับการตรวจร่างกายประจำปีหรือมีอาการอะไรที่รุนแรงเช่นปวดหัวมากก็อาจจะคิดว่าเกิดจากความเครียดจากการทำงานโดยไม่ได้ตระหนักถึงหรือคิดว่าเป็นเพราะมีความดันโลหิตสูงนั่นเอง หากคนที่มีความดันโลหิตสูงแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงทำให้พิการหรืออาจร้ายแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้ แต่หากรู้ตัวแต่เนิ่นๆ ว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงและเข้ารับการรักษาและคำแนะนำจากแพทย์ก็จะลดโอกาสที่จะพิการและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน แม้ว่าโรคความดันโลหิตสูงส่วนมากจะไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน แต่จะพบว่าหากเราเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกล่าวต่อไปนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตตามปกติของเราจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นได้แก่
พันธุกรรม เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงอย่างหนึ่ง หากคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พ่อ แม่ ฯลฯ เป็นโรคความดันโลหิตสูงโอกาสที่ลูกจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะมีมากขึ้นด้วย ปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างคือเพศ โรคความดันโลหิตสูงมักเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอายุคือเมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป(อายุ 45 ปีขึ้นไป) ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้
ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้คือปัจจัยเสี่ยงที่ส่วนมากจะเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้องแต่เนื่องจากการทำพฤติกรรมเหล่านี้จนติดเป็นนิสัยซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่งกล่าวคือเกิดจากการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้องในการดำเนินชิวิตประจำวันติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาการของโรคก็จะค่อยๆ สะสมมากขึ้นทีละนิดจนเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยทำมาเป็นระยะเวลานาน พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงมีดังนี้
การติดกินเค็มจนเป็นนิสัย อาหารที่มีรสเค็มจะมีส่วนผสมของเกลือ(โซเดียม)อยู่ในอาหารนั้น เครื่องปรุงรสหลายชนิดมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบเสมอจะมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเองเช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซ้อสปรุงรส ฯลฯ หากกินอาหารพวกนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
ไม่มีเวลาออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานดีขึ้น หลอดเลือดจะมีความยืดหยุ่นได้ดี ลดการสะสมของไขมันในร่างกาย คนที่ไม่มีเวลาออกกำลังกายหลอดเลือดจะแข็งไม่ยืดหยุ่นจะทำให้เกิดแรงต้านทานมากขึ้นหัวใจก็จะทำงานหนักขึ้น การไม่มีเวลาออกกำลังกายไม่เพียงแต่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงเท่านั้นแต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคของหัวใจและหลอดเลือดตามมาอีกด้วย
ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จะมีการสะสมของไขมันในร่างกายมากขึ้น หลอดเลือดที่มีไขมันมาจับตัวสะสมกันอยู่จะขัดขวางการไหลของเลือดที่จะไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อทางเดินของเลือดไหลไปได้ไม่สะดวกภาระหนักจึงเกิดขึ้นกับหัวใจที่ทำหน้าที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายที่ต้องทำงานหนักขึ้นทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้นเป็นผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สารพิษที่อยู่ในควันบุหรี่จะทำให้การทำงานของปอดลดลงและเกิดการอักเสบของปอดรวมไปถึงหลอดเลือดด้วย ส่วนการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้เลือดสูบฉีดแรงขึ้นหัวใจจะทำงานหนักขึ้น ทั้งสองอย่างนี้จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงเช่นกัน
ความเครียด ความเครียดทางด้านอารมณ์นั้นมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นโดยผ่านกลไกของระบบประสาทอัตโนมัติ เมื่อมีอาการเครียด วิตกกังวล โกรธ ตื่นเต้น ชีพจรจะเต้นแรงขึ้นและการสูบฉีดเลือดจะแรงขึ้น ดังนั้นคนที่เครียดบ่อยๆ เครียดเป็นประจำจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ส่วนมากจะเป็นพฤติกรรมที่สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ คนส่วนมากที่ตั้งใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจะสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติหรือใกล้เคียงปกติได้ บางรายอาจต้องมีการให้ยาลดความดันเพื่อช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตร่วมกันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งจุดประสงค์ก็คือการลดความเสี่ยงหรือชะลอไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะที่สำคัญเช่น สมอง หัวใจ หลอดเลือด ตาและไต ให้ได้นานที่สุด