กินอย่างไรให้ได้โซเดียมน้อย ทุกวันนี้กินข้าวแต่ละมื้อคุณได้โซเดียมไปเท่าไหร่ แม้ว่าโซเดียมจะเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการแต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จะได้รับโซเดียมเกินพอดี เป็นที่ทราบกันว่า โซเดียมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะเป็นจุดเริ่มของโรคต่าง ๆ ที่ร้ายแรง ดังนั้นเราควรรู้ว่าแต่ละวันเราจะกินโซเดียมได้แค่ไหน อาหารที่มีโซเดียมสูงได้แก่อะไรบ้าง
กินโซเดียมได้แค่ไหนในแต่ละวัน ในคนปกติร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน ประมาณได้เท่ากับเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา แต่สำหรับคนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่างกายไม่ควรได้รับโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าเทียบเป็นน้ำปลาก็ได้ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมเกินกว่าเกณฑ์ปกติเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็จะเกิดผลเสียกับร่างกายทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมาได้
อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารทั่ว ๆ ไป ที่เรากินในแต่ละวันจะมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ดังนั้นเราควรหาทางลดปริมาณโซเดียมในแต่ละมื้อ การลดเค็มที่เราสามารถควบคุมได้เองก็คือ การทำอาหารกินเองและจะให้ดียิ่งขึ้นก็ควรเลือกใช้เครื่องปรุงพวกซีอิ๊ว น้ำปลาที่ลดโซเดียมลง 50 % จะช่วยให้ร่างกายได้รับโซเดียมน้อยลงในแต่ละวัน หากต้องซื้ออาหารกินก็ให้ลด–เลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปเพราะอาหารพวกนี้จะมีปริมาณโซเดียมสูง อาหารพวกนี้ได้แก่ ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง หมูยอ บะหมี่สำเร็จรูป อาหารกล่องในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
บางคนอาจเลี่ยงไปกินก๋วยเตี๋ยวเพราะคิดว่าจะได้รับโซเดียมน้อยก็ต้องระวังเรื่องน้ำซุปเพราะในน้ำซุปมักจะมีสารปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำปลา ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่มาก ยิ่งถ้าน้ำซุปนั้นเตรียมโดยใช้ซุปก้อนก็จะมีปริมาณโซเดียมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากคิดว่าจะกินอย่างไรให้ได้โซเดียมน้อย ก็ควรกินน้ำซุปแต่พอดีไม่ควรซดจนเกลี้ยงชามเพราะจะทำให้ได้โซเดียมส่วนเกินไปมากโดยไม่จำเป็น
วิธีลดโซเดียมโดยการกำหนดช่วงเวลาการกินอาหาร โดยกำหนดว่าในแต่ละวันจะกินอาหารได้ในช่วงเวลา 8 ช.ม. โดยจะเริ่มเวลาไหนก็แล้วแต่กิจวัตรประจำวันของเรา ถ้าเราทำงานประจำก็เลือกช่วงเวลาที่สะดวกเช่น 08.00 – 16.00 น.( 8 ชั่วโมง) ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่คุณจะกินอาหารได้ ถ้าอยู่นอกช่วงเวลานี้ก็ดื่มได้แค่น้ำเปล่าเท่านั้น. การกำหนดช่วงเวลาในการกินอาหารได้นี้จะเป็นการบังคับไปในตัวให้จำนวนมื้ออาหารน้อยลง เมื่อจำนวนมื้ออาหารลดลงก็เท่ากับว่าเป็นการลดโซเดียมไปในตัว นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริงของการกำหนดช่วงเวลาในการกินอาหารได้นั่นเอง.