วิธีวัดความดันโลหิตอย่างง่าย

วิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ค่าความดันโลหิตที่ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด การวัดความดันโลหิตมี 2 วิธีคือการวัดความดันโลหิตโดยตรงจากหลอดเลือดแดง((Invasive Blood Pressure หรือ IBP) กับการวัดความดันโลหิตทางอ้อม (Non-invasive Blood Pressure หรือ NIBP) ซึ่งวิธีวัดความดันเลือดจากหลอดเลือดแดงโดยตรงนั้นเหมาะกับผู้ป่วยวิกฤติที่มีความดันเลือดต่ำมากอยู่ในภาวะช็อคไม่สามารถวัดความดันเลือดโดยวิธีวัดความดันโลหิตทางอ้อม(NIBP) ได้ ดังนั้นในที่นี่จะขอพูดถึงเฉพาะวิธีวัดความดันโลหิตแบบทางอ้อมโดยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ (Automatic blood pressure measurement) ที่ทำได้สะดวกกว่า

ค่าความดันโลหิตที่วัดได้จะถูกต้องเพียงใดขึ้นอยู่กับ

  1. ปัจจัยด้านผู้ป่วย ว่าผู้ป่วยมีการเตรียมตัวมาพร้อมหรือไม่ เช่น ก่อนการวัดความดันโลหิตผู้ป่วยควรนั่งพักประมาณ 5-10 นาทีเพราะการวัดความดันโลหิตขณะที่กำลังเหนื่อย ตื่นเต้น เครียด ตกใจ จะทำให้ผลการวัดไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก่อนการวัดความดันโลหิตผู้ป่วยมีการดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่หรือกินยาบางชนิดมาหรือไม่เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้ผลการวัดความดันโลหิตไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้เช่นกัน
  2. ปัจจัยทางด้านเครื่องมือ เครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิตเป็นแบบใด เป็นเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอท(Sphygmomanometer) หรือเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ (Automatic blood pressure measurement) เครื่องวัดความดันโลหิตจะต้องผ่านการตรวจเช็คมาตรฐานมาแล้ว อีกทั้งขนาดของผ้าพันแขน (Arm cuff) เหมาะสมกับแขนของผู้ป่วยหรือไม่โดยปกติส่วนที่เป็นถุงลมยางของผ้าพันแขนจะต้องสามารถคลุมรอบแขนของผู้ป่วยได้ 80 %
  3. ปัจจัยทางด้านการวัดและวิธีการวัด เช่นผู้วัดความดันโลหิตได้รับการฝึกอบรมการใช้เครื่องวัดมาอย่างถูกต้องหรือไม่ การพัน Arm cuff แน่นหรือหลวมเกินไปหรือไม่ ถ้าเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอทผู้วัดลดระดับปรอทเร็วเกินไปและการฟังเสียงถูกต้องหรือไม่ การวัดความดันโลหิต 2 ครั้งย่อมได้ผลที่ถูกต้องมากกว่าการวัดเพียงครั้งเดียว อีกทั้งความตั้งใจของผู้ทำการวัดความดันโลหิตก็มีผลต่อความถูกต้องของค่าความดันโลหิตเช่นกัน

การตรวจวัดระดับความดันโลหิต การเตรียมผู้ป่วยคนที่จะเข้ารับการตรวจวัดความดันโลหิตก่อนทำการวัด 30 นาที ไม่ควรดื่มชา กาแฟหรือสูบบุหรี่ ควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย ให้ผู้ป่วยนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงโดยวางเท้าทั้ง 2 ข้างราบกับพื้นแล้ววางแขนข้างที่ต้องการวัด(ควรเป็นแขนซ้าย) บนโต๊ะหงายฝ่ามือขึ้นไม่ต้องกำมือหรือเกร็งแขนให้ปล่อยแขนตามสบาย ใช้ผ้าพันแขน(Arm cuff) พันโดยให้ขอบล่างของผ้าพันแขนอยู่เหนือข้อพับประมาณ 2-3 ซม.โดยให้จุดที่รับสัญญาณอยู่ตรงกลางแขนด้านในแล้วติดเทปให้พอดีอย่ารัดผ้าพันแขนจนแน่นหรือหลวมเกินไป กดปุ่ม START/STOP บนเครื่องวัดความดันแล้วรอสักครู่จนตัวเลขแสดงผลบนหน้าจอหยุดนิ่งจึงอ่านค่าความดันโลหิตที่วัดได้จากตัวเลขบนหน้าจอ เพื่อความแน่ใจควรวัดความดันโลหิตซ้ำอีกครั้งจะได้ผลดีกว่าโดยทิ้งช่วงห่างประมาณ 5-10 นาทีก่อนจะวัดความดันโลหิตซ้ำอีกครั้ง

วิธีอ่านค่าเครื่องวัดความดัน ผลจากเครื่องวัดความดันจะได้ตัวเลขออกมา 3 ค่าเช่น  1. SYS = 118 mmHg  2. DIA = 79 mmHg และ 3. PUL = 75 bpm อธิบายได้ว่า 1. SYS คือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวมีค่าเท่ากับ 118 มม.ปรอท 2. DIA คือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวมีค่าเท่ากับ 79 มม.ปรอทและ 3. PUL คืออัตราการเต้นของหัวใจมีค่าเท่ากับ 75 ครั้ง/นาที สรุปได้ว่าวัดค่าความดันโลหิตได้เท่ากับ 118/79 มม.ปรอท เมื่อเทียบกับค่าความดันปกติ(<120/80 มม.ปรอท) นั่นคือความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ก็ควรวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง แต่หากค่าความดันโลหิตที่วัดออกมาได้สูงกว่าค่าความดันปกติก็หมายความว่าผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่การที่จะยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริงต้องมีวิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องซึ่งอาจต้องทำการวัดอย่างน้อย 3 ครั้งโดยแต่ละครั้งต้องเว้นช่วงห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตสูงไม่มากและไม่พบเห็นความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ที่ถูกทำลายจากโรคความดันโลหิตสูง

ความสำคัญของการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องแม่นยำ (Accurate Measurement) หากการวัดความดันโลหิตมีข้อผิดพลาดซึ่งอาจจะเกิดจากหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้ค่าความดันโลหิตที่ได้มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นทั้งที่สูงไปหรือต่ำไปแม้เพียง 5 มม.ปรอทก็ทำให้เกิดความเสียหายได้เช่น ถ้าการวัดค่าความดันโลหิต Diastolic blood pressure (ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว) ต่ำกว่าความเป็นจริง 5 มม.ปรอทจะทำให้มีผู้ป่วยที่ถูกละเลยการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่สมควร ในขณะที่ค่าความคลาดเคลื่อนของความดันโลหิต Diastolic blood pressure ที่สูงกว่าความเป็นจริง 5 มม.ปรอท จะทำให้เกิดการรักษาคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเพื่อให้ได้ค่าความดันโลหิตที่ถูกต้องตามความเป็นจริงการวัดความดันโลหิตจึงควรใช้เครื่องวัดความดันโลหิตที่ได้มาตรฐานและทำการวัดโดยเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น

คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้การติดตามค่าความดันโลหิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ต้องกินยาลดความดันโลหิตอยู่เป็นประจำซึ่งจำเป็นต้องมีกาววัดความดันโลหิตทุกวัน ๆ ละ 2 รอบ(เข้า , ก่อนนอน) เพื่อประโยชน์ในการปรับพฤติกรรมได้อย่างสอดคล้องกับค่าความดันโลหิตที่เปลียนแปลงไป เมื่อมีความจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตเป็นประจำแต่การเดินทางไปวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียวบ่อย ๆ อาจเป็นการไม่สะดวก ดังนั้นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตติดบ้านไว้ใช้เป็นการส่วนตัวเพื่อความสะดวกในการติดตามค่าความดันโลหิต ปัจจุบันเครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพามีราคาไม่สูงมากและมีข้อดีคือสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก มีความแม่นยำในระดับที่ดี ใช้งานง่ายมีข้อผิดพลาดน้อย การแสดงผลค่าความดันตัวบน ค่าความดันตัวล่างและอัตราการเต้นของหัวใจแสดงผ่านจอเป็นตัวเลขที่อ่านง่ายและชัดเจน แม้แต่ผู้สูงอายุก็สามารถอ่านค่าเองได้สะดวก ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจึงควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตติดบ้านไว้.

ความหมายของความดัน 110/70 มิลลิเมตรปรอท ความดัน 110/70 หมายความว่า ความดันซีสโตลิก 110 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นค่าความดันโลหิตสูงสุดในหลอดเลือดเมื่อหัวใจบีบตัว และค่า 70 mm Hg ที่เป็นค่าความดันตัวล่างหมายถึงความดันไดแอสโตลิก ที่มีค่าความดันโลหิตต่ำสุดในหลอดเลือดเมื่อหัวใจคลายตัว จึงสรุปได้ว่า ความหมายของค่าความดันโลหิตที่ 110/70 mm Hg จัดว่าอยู่ในช่วงปกติ และถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากค่าอยู่ในช่วงที่ปลอดภัยและไม่แสดงถึงภาวะความดันโลหิตสูงหรือต่ำเกินไป