การออกกำลังกายลดความดันได้อย่างไร

ออกกำลังกายทำให้ความดันสูงไหม การออกกำลังกายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ แม้ว่าในช่วงที่กำลังออกกำลังกายจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมากกว่าปกติแต่หลังจากการออกกำลังกายแล้วโดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ทำอย่างสม่ำเสมอ(เป็นประจำ) จะช่วยทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้ในระยะยาวซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้

ทำไมออกกำลังกายลดความดัน เนื่องจากการออกกำลังกายทำให้หัวใจเพิ่มการสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายและทำให้ผนังเส้นเลือดมีความยืดหยุ่นทำให้ความต้านทานในเส้นเลือดแดงลงลงจึงส่งผลโดยรวมทำให้ความดันโลหิตลดลง ออกกำลังกายช่วยลดความดันอีกทั้งการออกกำลังกายยังช่วยทำให้หัวใจ กล้ามเนื้อและปอดมีความแข็งแรงทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย การออกกำลังกายทุกชนิดล้วนมีผลดีต่อระดับความดันโลหิตแต่การออกกำลังกายแบบแอโรบิกแบบพอดีที่ความเหนื่อยระดับปานกลาง(ยังพูดคุยได้แต่ร้องเพลงไม่ไหว) จะส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตมากที่สุด ผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมระดับความดันโลหิตจึงควรยึดการออกกำลังกายแบบแอโรบิก(Aerobic Exercise) เป็นหลัก

ความดันโลหิตกับการออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักได้รับคำแนะนำให้พยายามออกกำลังกายแบบต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอทั้งนี้เพราะการออกกำลังกายที่ทำอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเป็นวิธีปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไปได้ การออกกำลังกายจะมีผลทำให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ลดแรงต้านทานในหลอดเลือดและเพิ่มปริมาณเลือดที่หัวใจสูบฉีดในแต่ละครั้ง แม้ว่าความดันโลหิตขณะออกกำลังกายจะเพิ่มขึ้นแต่สุดท้ายแล้วการออกกำลังกายจะทำให้เกิดผลโดยรวมคือความดันลดหลังออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีความถี่ในการออกกำลังกาย 3 – 5 วัน/สัปดาห์ ผลของการลดความดันโลหิตหลังการออกกำลังกายจะอยู่ได้นานขึ้นและจะส่งผลดีในระยะยาวหากทำการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ท่าออกกำลังกายในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ประเภทของการออกกำลังกายมี 3 ประเภทคือ 1. Aerobic Exercise เป็นการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่องโดยใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานหลักเช่น การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน 2. Resistance Training Exercise เป็นการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเช่น การยกดัมเบลล์ และ 3. Flexibility Exercise เป็นการออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อใช้สำหรับก่อนออกกำลังกายเพื่อทำการอุ่นเครื่อง (Warm up) และผ่อนคลาย (Cool down) หลังการออกกำลังกาย ประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงคือ Aerobic Exercise โดยทำ Flexibility Exercise ก่อนและหลังการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงคือ Aerobic Exercise เป็นการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจนมาก ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและใช้ออกซิเจนตลอดเวลาช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของปอด หัวใจ หลอดเลือดทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายในลักษณะนี้จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทนทาน มีการทรงตัวที่ดี ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบ Aerobic Exercise ได้แก่ การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น

การตอบสนองของความดันโลหิต เมื่อมีการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่เพียงพอจะมีผลทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้นปริมาณเลือดที่สูบฉีดแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้น ความต้านทานในหลอดเลือดลดลง แม้ว่าความดันโลหิตขณะออกกำลังกายจะเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มสูงสุดที่ระดับการออกกำลังกายที่หนักที่สุดแต่ผลสุดท้ายจะพบว่าความดันลดหลังออกกำลังกาย (Post – Exercise Hypotension) ความดันที่ลดลงจะลดต่ำกว่าก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกายและความดันโลหิตที่ลดลงนี้จะคงอยู่นานถึง 22 ชั่วโมงหลังการออกกำลังกายเพียงหนึ่งครั้ง ส่วนผลในระยะยาวถ้ามีการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าชนิดของการออกกำลังกาย ระยะเวลาและความสม่ำเสมอจะแตกต่างกันไปบ้างแต่ผลของการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ทำให้ความดันโลหิตลดลงจะยังคงมีผลอยู่

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการออกกำลังกายในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยทั่วไปแล้วการออกกำลังกายในระดับเบาจนถึงระดับปานกลางนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายน้อยมาก อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังเกี่ยวกับการออกกำลังกายของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงคือปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอย่างอื่นร่วมด้วยเช่น เบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง ฯลฯ ก่อนออกกำลังกายควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ทั้งในเรื่องการตรวจสมรรถภาพของหัวใจและการเลือกประเภท ชนิด ระยะเวลา ความหนัก ความแรง ความถี่และปริมาณการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย