การดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

การดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงอาการของโรคคือผู้ป่วยจะมีอาการมึนหัว ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยโดยเฉพาะในตอนเช้าหลังจากตื่นนอน บางรายอาจถึงกับคลื่นไส้ อาเจียน แล้วอาการจะดีขึ้นใน 1-2 ชั่วโมง การวัดความดันโลหิตอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทุกราย ผู้ป่วยโรคความดันในระยะแรกมักจะไม่มีอาการให้เห็นเด่นชัดการดำเนินของโรคจะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ หากไม่ดูแลสุขภาพให้ดีเมื่อรู้ตัวอีกทีก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว

กลไกการเกิดความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตที่สูงขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดของหัวใจและแรงต้านที่เกิดในหลอดเลือดแดงส่วนปลาย การเพิ่มขึ้นของปัจจัยหนึ่งหรือทั้งสองปัจจัยจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีกลไกที่มีผลต่อความดันโลหิตอีกคือ ระบบประสาทซิมพาธิติก(Sympathetic nervous system) ระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน (rennin-angiotensin system) และระบบการทำงานของไต ซึ่งการทำงานของทั้ง 3 ระบบนี้จะมีผลต่อระดับความดันโลหิตเนื่องจากเมื่อถูกกระตุ้นจะส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดทำให้แรงต้านทานภายในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น หัวใจบีบตัวแรงขึ้นปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจเพิ่มขึ้นทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

การรักษาความดันโลหิตสูง แบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การรักษาโดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต(ไม่ใช้ยา)และการรักษาโดยการใช้ยาลดความดันโลหิต สำหรับการเริ่มรักษาหากความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ความดันปกติไม่มากนักการรักษามักทำโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตหากไม่ได้ผลก็ต้องใช้วิธีกินยาลดความดันโลหิต สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไปก็ได้ ทั้งนี้จุดประสงค์ของการรักษาก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตนั่นเอง

การดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจึงต้องพยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ(วัดโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย BMI) ควบคุมอาหารโดยลดการกินเค็ม เน้นปลา ผักและผลไม้ให้มาก ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย งดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยควรออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละ 30 นาที เช่น ปั่นจักรยาน เดินเร็วหรือว่ายน้ำ ประโยชน์ของการออกกำลังกายยังช่วยคลายเครียดได้อีกด้วย สำหรับผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาการความดันโดยการใช้ยาลดความดันโลหิตก็ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยต้องอยู่กับโรคนี้ไปตลอดชีวิต อันตรายของโรคความดันคือการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดกับสมอง หลอดเลือด หัวใจ ตา และไต ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัดทั้งการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การกินยาลดความดันโลหิต ฯลฯ ผู้ป่วยความไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามกำหนดนัด หากเป็นไปได้ให้ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ โรคความดันโลหิตสูงหากเราสามารถควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล

วิธีลดความดันสูงแนะนำสูตรนี้ คำแนะนำผู้ป่วยความดันโลหิตสูงโดยให้ยึดหลักปฏิบัติตัวตามนี้คือ อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวเกินค่าดัชนีมวลกาย(BMI) คือไม่ควรเกิน 22.9 กิโลกรัม/เมตร2 ถ้าเป็นไปได้ให้เปลี่ยนมากินอาหารแดช(DASH) หรือใช้การควบคุมน้ำหนักแบบ IF (Intermittent Fasting) อาจเริ่มจากใช้สูตร 5:2 หรือ 16/8 ก็ได้ ให้หลีกเลี่ยงการกินอาหารในช่วงเวลาใกล้จะเข้านอน อาหารที่กินก็ให้เน้นพวก ปลา ผัก โดยใช้วิธีปรุงแบบนึ่ง ต้ม หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงโดยวิธีผัดน้ำมัน ทอดน้ำมัน เป็นต้น สิ่งที่ต้องทำควบคุู่กันไปคือลดหรืองด(ถ้าทำได้) เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ หากปฏิบัติตามสุตรนี้จนอยู่ตัวแล้วก็อาจเพิ่มการออกกำลังกายโดยเริ่มจากเบาๆ แล้วค่อยทำมากขึ้นโดยเน้นที่ความสม่ำเสมอในการออกกำลังกาย