ภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคความดันโลหิตสูง(Hypertension) คือภาวะที่ร่างกายมีค่าความดันโลหิตสูงกว่าค่าความดันโลหิตปกติซึ่งความดันคนปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 120-139/80-89 mm.Hg ถ้าจะถามว่า “ความดันสูงเท่าไหร่อันตราย” ความดันโลหิตที่มีค่าตั้งแต่ 140/90 mm.Hg ขึ้นไปก็ถือมีภาวะความดันโลหิตสูงแล้ว ค่าความดันโลหิตยิ่งสูงมากขึ้นเท่าไหร่อันตรายก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อันตรายจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่สำคัญเช่น สมอง หัวใจ ไต ตา เป็นต้น
การยืนยันว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงอย่างถาวร จะต้องใช้วิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตที่ได้มาตรฐานและทำการวัดโดยแพทย์หรือพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีแล้วเท่านั้น การวัดความดันโลหิตต้องวัดอย่างน้อย 3 ครั้งและการวัดแต่ละครั้งจะต้องเว้นระยะห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังต้องซักประวัติ ตรวจร่างกายและประเมินความรุนแรงของโรคว่ามีความผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากการที่อวัยวะต่างๆ ถูกทำลายจากภาวะความดันโลหิตสูงบ้างแล้วหรือไม่
ความดันโลหิตสูงอาการเป็นอย่างไร อาการเริ่มต้นคนเป็นความดันโลหิตสูงเมื่อเริ่มเป็นความดันโลหิตสูงอาการจะไม่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด มีผู้ป่วยจำนวนน้อยมากที่จะมีอาการของโรคความดันโลหิตสูงเมื่อเริ่มเป็น(ความดันโลหิตสูงเล็กน้อยหรือปานกลาง) ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากไม่ค่อยจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้วแต่อาการจะแสดงออกเมื่อค่าความดันโลหิตสูงมากแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการความดันสูงจะรู้สึกปวดศีรษะ(บริเวณท้ายทอย)โดยเฉพาะเวลาตื่นนอน เวียนศีรษะ มึนงง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอกร่วมด้วย
ผลกระทบของโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ทำได้คือพยายามควบคุมระดับความดันโลหิตซึ่งทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงกับอวัยวะที่สำคัญเช่น หัวใจ สมอง ไต ตา ฯลฯ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้ผู้ป่วยพิการหรือทุพพลภาพที่ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานและกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมโดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต นอกจากจะสูญเสียรายได้แล้วยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวอีกด้วย
ความดันสูงควรทำอย่างไร สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรทำคือควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 140/90 mm.Hg เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะที่สำคัญของร่างกาย การรักษาและควบคุมระดับความดันโลหิตทำได้ 2 วิธีคือ 1. การรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาโดยการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพเช่น ควบคุมน้ำหนัก ลดอาหารรสเค็ม ออกกำลังกาย ไม่เครียด งดบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 2. การรักษาความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยาซึ่งความเหมาะสมของการเลือกใช้ยาในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ปัจจัยเสี่ยงต่ออวัยวะสำคัญ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนมากจะไม่รู้ตัว โดยเฉพาะถ้าไม่ได้มีการตรวจสุขภาพประจำปีเพราะอาการของโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะเป็น ๆ หาย ๆ เช่น รู้สึกปวดหัว ปวดท้ายทอย ตึงศีรษะ ฯลฯ ซึ่งผู้ที่มีอาการเหล่านี้มักจะเข้าใจว่าเป็นเพราะความเครียดหรือทำงานหนักหรืออาจจะเข้าใจว่าเป็นโรคอื่นเช่น ปวดหัวไมเกรนเป็นต้น ดัง่นั้นถ้าคุณเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายปกติยังไม่มีโรคประจำตัวก็ขอให้ดูแลสุขภาพให้ดีและต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อเป็นการป้องกันและหากพบอาการผิดปกติหรือสัญญานเตือนต่างๆ ที่ร่างกายของเราส่งสัญญานเตือนออกมาก็จะสามารถป้องกันหรือรักษาแต่เนิ่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคความดันโลหิตสูงที่มักจะมีคนเรียกว่า “เพชรฆาตเงียบ” คือถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงในระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการอะไรที่เด่นชัดซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เป็นหนักแล้ว
ความดันลดเองได้ไหม การหาวิธีในการลดความดันโลหิตเองอาจลองทำได้ในกรณีใช้การปรับพฤิตกรรมที่มีผลกระทบทำให้ความดันโลหิตสูงในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเช่น การควบคุมน้ำหนักและควบคุมอาหาร วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดเพราะความดันโลหิตสูงมักมีสาเหตุมาจากการกินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงและความเครียด การลดอาหารที่มีโซเดียมสูงเช่น ฟาสต์ฟู้ด อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป ฯลฯ หากรวมกับการควบคุมน้ำหนักที่ช่วยลดการทำงานของหัวใจและความดันเลือดได้ก็จะทำให้ความดันโลหิตสามารถลดลงได้ นอกจากนี้ควรปรับพฤติกรรมการออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วยโดยเน้นที่การออกกำลังกายแบบต่อเนื่องประมาณวันละ 30 นาทีเช่น การปั่นจักรยาน เดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค เป็นต้น ปัจจัยที่ต้องควบคุมเพื่อให้ความดันลดลงได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การจัดการกับความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำเพื่อติดตามความคืบหน้าในการควบคุมความดันโลหิตของคุณ ที่กล่าวมาคือวิธีการควบคุมความดันโลหิตโดยไม่ใช้ยาซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีโดยการปรับพฤิตกรรมประจำวันของคุณ
ความดันโลหิตสูงกินไข่ต้มได้ไหม มีหลายคนที่เข้าใจว่าการกินไข้ต้มทำให้เกิดความดันโลหิตสูง อันที่จริงแล้วไข่ต้มเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่ทุกคนสามารถกินได้ในปริมาณที่พอเหมาะและไข่ต้มยังเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำและมีไขมันที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายอีกหลายอยาง สาเหตุของความดันโลหิตสูงที่สำคัญคือการกินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ดังนั้นควรหันไปควบคุมอาหารที่มีโซเดียมสูงจะทำให้การควบคุมความดันโลหิตทำได้ดียิ่งขึ้น
ความดันโลหิตสูงกินกาแฟได้ไหม การกินกาแฟที่มีสารคาเฟอีนอยู่จะทำความดันโลหิตสูงขึ้นได้ขั่วขณะหนึ่งแต่ทั้งนี้ผลกระทบของการดื่มกาแฟต่อระดับความดันโลหิตอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปริมาณการบริโภคของแต่ละคน ดังนั้นกาแฟสามารถบริโภคได้แต่ควรบริโภคในระดับที่เหมาะสมซึ่งแต่ละคนสามารถสังเกตุได้จากอาการหลังดื่มกาแฟ บางคนดื่มกาแฟแล้วเกิดอาการใจสั่นแต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่ดื่มกาแฟ ดังนั้นโดยทั่วไปควรดื่มกาแฟได้วันละ 1-2 แก้วโดยไม่มีผลกระทบอย่างอื่นต่อร่างกาย จะเห็นได้ว่าไม่ว่าการกินไข้ต้มหรือการดื่มกาแฟ หากทำในปริมาณที่พอเหมาะก็สามารถทำได้ตามปกติแต่หากมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการกินกาแฟต่อสุขภาพควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม.