การรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยา

รักษาโรคความดันสูงโดยการลดน้ำหนัก
ควบคุมน้ำหนักช่วยลดความดัน

วิธีการรักษาโรคความดันสูงมี 2 แบบคือ 1. การรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยา 2. การรักษาความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยาลดความดันโลหิต ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแบบที่ 1 เพราะการรักษาโรคความดันโลหิตส่วนมากจะเริ่มจากแบบนี้ก่อน วิธีนี้สามารถทำได้แม้แต่กับคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันหรือชะลอให้อาการของโรคเกิดช้าหน่อย แต่หากใช้วิธีรักษาแบบที่ 1(ไม่ใช้ยา)แล้วไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจได้ก็จำเป็นต้องใช้การรักษาความดันโลหิตแบบที่ 2 คือการใช้ยาลดความดันโลหิตเพิ่มเข้ามาอีกวิธีหนึ่ง

การรักษาความดันโลหิตโดยไม่ต้องใช้ยาทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs หรือ Non-Communicable Diseases)คือไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อหรือได้รับเชื้อโรคหรือติดต่อผ่านตัวนำโรค(พาหะ) แต่โรคความดันโลหิตสูงเกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง การดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องโดยที่ตัวผู้ป่วยเองก็ยังไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่ออาการของโรคแสดงอย่างชัดเจนแล้ว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง ทำได้โดยการลดน้ำหนักโดยมีเกณฑ์ที่ใช้วัดคือค่าดัชนีมวลกาย(Body Mass Index) โดยผู้ป่วยต้องมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 18.5 – 24.9 กก./ม.² หากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถลดน้ำหนักให้ลดลงได้ 10 กก. จะมีผลทำให้ค่าความดันโลหิต(SBP) ลดลงได้ 5-20 มม.ปรอท

การปรับพฤติกรรมโดยกินอาหารแดช (DASH diet คือ Dietary Approach to Stop Hypertension) เป็นอาหารสำหรับคนเป็นความดันโดยเฉพาะคือเป็นอาหารที่เน้นพวกธัญพืชที่มีไฟเบอร์สูง ลดไขมันในอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ให้กินปลา ถั่ว นมไขมันต่ำ ผักลดความดันโลหิตสูงเช่น ขึ้นฉ่าย ต้นหอม กระเทียม ฯลฯ ผลไม้ที่ไม่หวานจัด  พยายามหลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มที่มีรสหวาน การกินอาหารแดชจะมีประสิทธิภาพในการลดค่าความดันโลหิต(SBP) ลงได้ 8-14 มม.ปรอท

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการลดเกลือ(โซเดียม)ในอาหาร เนื่องจากการติดนิสัยกินเค็มเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่การเป็นโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมโดยลดปริมาณเกลือในอาหารลงโดยไม่ควรกินเกลือเกิน 6 กรัม/วัน(ประมาณ 1 ช้อนชาเศษๆ) หรือถ้าเป็นน้ำปลา/ซีอิ๊วไม่ควรกินมากกว่า 2 ช้อนโต๊ะ/วัน วิธีลดเกลือโซเดียมในอาหารนี้จะช่วยลดความดันโลหิต(SBP) ลงได้ 2-8 มม.ปรอท อาหารที่มีเกลือโซเดียมอยุ่ในปริมาณสูงมักจะมีรสเค็มแต่อาหารที่มีเกลือโซเดียมแฝงอยู่แม้จะไม่มีรสเค็มแต่ก็มีโซเดียมอยู่ในปริมาณมากได้ ดังนั้นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ต้องการควบคุมปริมาณเกลือในอาหารต้องรู้ว่าอาหารแต่ละชนิดมีโซเดียมอยู่ในปริมาณเท่าใดเพื่อจะได้เลือกกินได้อย่างถูกต้อง

การปรับพฤติกรรมเรื่องการออกกำลังกาย พฤติกรรมของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ผ่านมามักไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ดังนั้นจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมโดยการออกกำลังกาย(แบบ Aerobic) อย่างสม่ำเสมอประมาณวันละ 30 นาที การออกกำลังกายแบบแอโรบิค(Aerobic) ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอด 30 นาทีเช่น การเดินเร็ว ประสิทธิภาพของการลดค่าความดันโลหิต(SBP)ในเรื่องการออกกำลังกายคือ 4-9 มม.ปรอท

การปรับพฤติกรรมเรื่องการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ถ้างดดื่มได้ก็ควรงดแต่ถ้างดไม่ได้ก็พยายามลดหรือจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สำหรับผู้ชายควรจำกัดการดื่มดังนี้คือไม่เกิน 2 Drinks/วัน (เทียบได้กับวิสกี้ที่ยังไม่ผสม 90 มล.หรือเบียร์ 720 มล.หรือไวน์ 300 มล.) สำหรับผู้หญิงและคนน้ำหนักตัวน้อยควรดื่มไม่เกิน 1 Drink/วัน การปรับพฤติกรรมในเรื่องนี้จะช่วยลดค่าความดันโลหิต(SBP)ลงได้ 2-4 มม.ปรอท

โดยสรุปการลดความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาเป็นหัวข้อสั้นๆ ดังนี้คือ เน้นการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นหลักด้วยการเปลี่ยนมากินอาหารจำพวกพืชผักและผลไม้เป็นหลัก ลดปริมาณเกลือในอาหารลงให้มากที่สุด ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดละเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดและมลพิษรอบๆ ตัวและข้อสุดท้ายที่มักจะถูกมองข้ามไปคือการพักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึกเพราะคนที่มีความดันโลหิตสูงส่วนมากมักจะนอนดึกพักผ่อนไม่เพียงพอ.