ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรออกกำลังกายหรือไม่ มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงว่าผู้ป่วยไม่ควรออกกำลังกายควรดูแลตัวเองด้วยการควบคุมอาหารและกินยาควบคุมระดับความดันโลหิตเท่านั้นซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง การออกกำลังกายส่งผลดีกับคนปกติยังไงสำหรับคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะได้รับผลดีที่ไม่แตกต่างกันเพียงแต่วิธีการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีข้อควรระวังหากปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องการออกกำลังกายย่อมส่งผลดีต่ออาการของโรคความดันโลหิตสูงอย่างแน่นอน
ประเภทการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยทั่วไปจะแบ่งประเภทการออกกำลังกายโดยใช้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการใช้ออกซิเจนเป็นเกณฑ์ออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1. การออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจนหรือใช้แต่น้อย(Anaerobic Exercise) 2. การออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน(Aerobic Exercise) ซึ่งการออกกำลังกายทั้งสองแบบส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตที่แตกต่างกันดังนี้
การออกกำลังแบบไม่ใช้ออกซิเจนหรือใช้แต่น้อย(Anaerobic Exercise) เป็นการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยแต่ใช้แรงมาก กล้ามเนื้อจะได้รับการออกแรงและเพิ่มความทนทานมีการเกร็งและการตึงตัวของกล้ามเนื้อโดยการออกแรงดึง-ดันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรงแต่สำหรับการเต้นของหัวใจจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก การออกกำลังกายประเภทนี้ได้แก่ การยกน้ำหนัก การวิ่งระยะสั้น ฯลฯ
การออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน(Aerobic Exercise) ที่มีผลดีต่อการทำงานของปอดและหัวใจอย่างมาก ระบบหัวใจและหลอดเลือดจะทำงานได้ดีมากขึ้นเนื่องจากร่างกายมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาขณะออกกำลังกายทำให้ระบบการหายใจและไหลเวียนของเลือดทำได้ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตของร่างกายโดยรวม การออกกำลังกายประเภทนี้ได้แก่ การเต้นแอโรบิก การวิ่งจ๊อกกิ้ง การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำและการกระโดดเชือกเป็นต้น
การออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจึงควรเน้นที่การออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน(Aerobic Exercise) โดยเน้นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องออกแรงมากแต่มีข้อแม้ว่าต้องทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด หัวใจและการสูบฉีดของเลือดให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น
ขั้นตอนการออกกำลังกายควรเริ่มจากช่วงอบอุ่นร่างกาย(Warm up) ช่วงออกกำลังกาย(Exercise) และช่วงผ่อนคลาย(Cool down) โดยการอบอุ่นร่างกายควรใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการออกกำลังกายเช่น การยืด เหยียดกล้ามเนื้อ การลุกนั่ง การงอเข่า เพื่อทำให้กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกและข้อต่อ มีความพร้อมสำหรับการออกกำลังกายและป้องกันการบาดเจ็บ ส่วนช่วงออกกำลังกายควรใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ควรทำอย่างต่อเนื่องและหายใจเข้า-ออกลึกๆ ให้เต็มปอด(ไม่กลั้นหายใจ)และช่วงผ่อนคลายควรใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีเพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลายและลดการบาดเจ็บหลังการออกกำลังกาย
ข้อควรระวังสำหรับการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ตามที่กล่าวมาข้างต้นว่าเน้นที่การออกกำลังกายที่ไม่รุนแรงแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะออกกำลังกายผู้ป่วยต้องมีระดับการหายใจที่ไม่เหนื่อยมากนักคือแม้จะเหนื่อยแต่ก็ยังสามารถพูดคุยได้ตามปกติ ดังนั้นผู้ป่วยควรหยุดออกกำลังกายทันทีหากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้เช่น เหนื่อยมากจนไม่สามารถพูดได้ขณะออกกำลังกาย หายใจไม่ทัน เหงื่อออกมากและตัวเย็นผิดปกติ ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ได้ หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เป็นต้น