ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องพยายามควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงกว่า 140/90 mm.Hg ซึ่งอาจทำได้ทั้งการรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยา(ปรับพฤติกรรม)และการรักษาความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยาหรืออาจจะใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไปก็ได้ มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายกับอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ที่สำคัญคือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับหัวใจ สมอง ไต เป็นต้น ความดันเลือดที่สูงอาจจะทำให้เส้นเลือดแดงแตก หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนา ไตวาย อัมพาต ภาวะหัวใจล้มเหลว ประสาทตาเสื่อม ฯลฯ
อาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เกิดกับหัวใจ ถ้าเราปล่อยให้ความดันเลือดสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้ควบคุม ความดันเลือดภายในร่างกายที่สูงมากจะทำลายผนังเส้นเลือด หลอดเลือดและอวัยวะต่างๆจะถูกทำลายมากยิ่งขึ้น ภาวะแทรกซ้อนโรคความดันโลหิตสูงที่เกี่ยวกับหัวใจมีดังนี้คือ
- ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว(Artherosclerosis) เนื่องจากเยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อมสภาพและมีความยืดหยุ่นน้อยลง ผนังหลอดเลือดมีไขมันและสารอื่นๆ มาสะสมทำให้ผนังหลอดเลือดหนาเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นตะกรัน หลอดเลือดเริ่มตีบตันจนเลือดไหลผ่านได้น้อยหรือไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญได้ ทำให้อวัยวะส่วนต่างๆขาดเลือดไปเลี้ยง อาการของอวัยวะที่ขาดเลือดเช่น ปวดขาเมื่อเดินนานๆ เจ็บหน้าอกเมื่อเสร็จจากการออกกำลังกาย
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาเช่น 1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีสาเหตุจากตะกรันที่ขัดขวางการไหลของเลือดทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกเหมือนมีของหนักมาทับหน้าอก อาจมีอาการเจ็บร้าวบริเวณขากรรไกรและแขนซ้าย อาการเจ็บจะเกิดขึ้นประมาณ 15-30 นาที เมื่อได้พักสักครู่อาการเจ็บแน่นหน้าอกก็จะหายเจ็บ นอกจากนี้อาจมีอาการร่วมอื่นๆ อีกเช่น เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม หมดสติเพราะสมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ 2. หัวใจวายเฉียบพลัน(Heart Attack) เกิดจากการที่หลอดเลือดส่วนที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตันเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อแตก หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้เลย
- ภาวะหัวใจล้มเหลว(Heart Failure)จากความดันโลหิตสูง เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักโดยเฉพาะหัวใจห้องซ้ายล่างที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านหลอดเลือดที่มีแรงต้านทานสูงเป็นระยะเวลานาน ผนังหัวใจหนาขึ้นจนไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดไปเลื้ยงอวัยวะต่างๆได้ซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
- ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง(Aneurysm) เกิดจากแรงดันเลือดที่สูงกระทำต่อผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เป็นเวลานานทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกและช่องท้อง ทั้งนี้หลอดเลือดแดงใหญ่อาจไปกดเบียดอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงเช่น หลอดอาหาร หลอดลม เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียงทำให้เกิดอาการกลืนอาหารลำบาก หายใจลำบาก เสียงแหบ แต่ถ้าหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองเกิดการปริแตกจะมีอาการปวดท้อง ปวดในช่องอก ไอเป็นเลือดหรืออาจช็อคเพราะเสียเลือดอย่างฉับพลันทำให้เกิดอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้
ผลกระทบของโรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังนอกจากจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับหัวใจแล้วอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับสมองและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับไตซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญ ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้เป็น “อัมพาต” หรือ “ไตวาย” ได้ ดังนั้นควรให้ความใส่ใจในการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง
วิธีดูแลสุขภาพเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง ให้ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะอาหารประเภทผัด–ทอดน้ำมัน อาหารรสเค็มหรือหวานจัดโดยให้ทำควบคู่ไปกับการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วย ทั้งนี้เรื่องพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากอยู่ในการดูแลของแพทย์และต้องกินยาลดความดันก็พยายามกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง หมั่นวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ อีกปัจจัยที่สำคัญคืออย่าเครียดและต้องพยายามพักผ่อนให้เพียงพอโดยเวลานอนที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน การพักผ่อนที่เพียงพอมีข้อสังเกตคือเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วจะไม่รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียซึ่งปกติคนทั่วไปจะนอนคืนละประมาณ 6-8 ชั่วโมง ทั้งนี้ให้งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ด้วย.
ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคแทรกซ้อนหลายๆ โรคที่อันตราย ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงและความเจ็บป่วยที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โรคแทรกซ้อนที่สำคัญที่เกิดจากความดันโลหิตสูงมักเกิดกับอวัยวะที่สำคัญของร่างกายได้แก่ หัวใจและหลอดเลือดเพราะความดันโลหิตสูงจะมีผลทำให้หลอดเลือดแดงขาดความยืดหยุ่นและเกิดการอุดตันของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ความดันโลหิตที่สูงขึ้นจะทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นจนไม่สามารถรับสภาพนั้นได้และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ สมองและไตความดันที่สูงในสมองจนทำให้หลอดเลือดในสมองอุดตันหรือแตกได้ส่งผลให้เกิดการพิการตามมาได้จากความเสียหายของเส้นเลือดสมองที่ถูกทำลาย ส่วนผลกระทบของความดันโลหิตสูงที่เกิดกับไตคือความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดในไตเกิดความเสียหายทำให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติและเกิดเป็นโรคไตเรื้อรังได้ หากหลอดเลือดส่วนปลายถูกทำลายด้วยสาเหตุของความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดการตีบและอุดตันของเส้นเลือดบริเวณขาและแขนทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดีและเกิดอาการปวดแขน-ขาได้ ความดันโลหิตสูงหากเกิดในหลอดเลือดบริเวณตาก็อาจทำให้เส้นเลือดในตาแตกและทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ สำหรับภาวะแทรกซ้อนในระบบประสาทจะนำไปสู่การเสื่อมสภาพของระบบประสาททำให้เกิดปัญหาการรับรู้จนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
โรคความดันโลหิตสูงมีโอกาสหายไหม โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นโรคเรื้อรังที่ใช้เวลาในการก่อตัวของโรคนานหลายปีจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ใส่ใจสุขภาพ ส่วนมากมักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและประคองอาการเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีได้ การควบคุมความดันโลหิตสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันและการใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิต อาจเริ่มจากการปรับพฤติกรรมประจำวันในเรื่องอาหารการกิน ควบคุมน้ำหนัก หมั่นออกกำลังกาย เลิกนิสัยนอนดึก ลดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากไม่สามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ก็ต้องปรึกษาแพทย์ซึ่งแพทย์มักจะให้กินยากลุ่มต่างๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดการบีบตัวของหลอดเลือด ฯลฯ การควบคุมความดันโลหิตสูงให้ได้ผลต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้แต่การควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสามารถลดอันตรายและความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้