ภาวะแทรกซ้อนด้านระบบประสาทของโรคความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้มักมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงที่เกิดกับอวัยวะที่สำคัญของร่างกายเช่น สมอง หลอดเลือด หัวใจ ตา ไต เป็นต้น สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับสมองความดันสูงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองที่เกิดจากความดันซีสโตลิค(Systolic – ความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว)มีระดับที่สูงซึ่งจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคสมองขาดเลือดชั่วคราว เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนความดันโลหิตสูงมีอะไรบ้าง โรคแทรกหรือภาวะแทรกซ้อนเป็นผลที่ไม่ดีของการรักษาโรคทำให้โรคที่เป็นอยู่นั้นมีอาการหนักขึ้นหรือมีอาการเพิ่มขึ้นหลายอย่างซึ่งจะมีผลกระทบไปถึงอวัยวะอื่นๆ กระจายไปทั่วร่างกาย ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงมีหลายอย่างเช่น หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคที่เกี่ยวกับภาวะการเผาผลาญพลังงาน โรคสมองเสื่อม โรคที่ทำให้เกิดปัญหากับความจำ เป็นต้น

ความดันขณะหัวใจบีบตัว(Systolic Blood Pressure) โดยปกติจะมีค่าสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นภาวะแทรกซ้อนด้านระบบประสาทที่เกี่ยวกับสมองมักจะเกิดกับผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบประสาทจะพบได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการเช่น  ลำตัว แขน ขาเกิดอาการชา-อ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง ปากเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง ปวดศีรษะมากร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก มองไม่เห็นชั่วคราว ความจำเสื่อมทันทีทันใด ซึม หมดสติ ไม่รู้สึกตัว

ภาวะแทรกซ้อนด้านระบบประสาทชนิดเฉียบพลัน ซึ่งลักษณะการเกิดอาการมักจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองแตกทำให้ความดันในสมองสูงขึ้นเนื่องจากเลือดที่ออกในสมองจะค่อยๆ เพิ่มขนาดทำให้สมองตรงตำแหน่งที่เลือดออกเกิดความเสียหายจากการถูกกดเบียดที่บริเวณเนื้อสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการทางประสาทมากขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะและซึมลงได้ด้วยภาวะที่ความดันในสมองสูงขึ้น

โรคหลอดเลือดสมองตีบ – อุดตัน เป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลันที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดในสมองเกิดการอุดตันส่งผลให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทำให้เกิดภาวะเนื้อสมองตาย ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทชนิดเฉียบพลันอีกชนิดหนึ่งคือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวที่มีลักษณะอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมองตีบแต่อาการจะหายกลับเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมงเพราะการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองนั้นเป็นการเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ (ชั่วคราว) เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองได้อาการของผู้ป่วยก็จะกลับมาเป็นปกติ

ภาวะแทรกซ้อนด้านระบบประสาทชนิดเรื้อรังทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม สูญเสียความทรงจำและมีความผิดปกติในกระบวนการรับรู้และความคิด ภาวะหลงลืมนี้เกิดได้ทั้งจากโรคหลอดเลือดสมองชนิดเรื้อรังและชนิดเฉียบพลัน การดูแลรักษาผู้ป่วยจึงอยู่ที่การควบคุมระดับความดันโลหิตรวมทั้งพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและการตรวจร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อหาร่องรอยที่อวัยวะภายในร่างกายอาจถูกทำลายจากโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งควรให้ความรู้เรื่องการดูแลตนเองของผู้ป่วยเพื่อป้องกันหรือลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นให้ลดลงได้